การบริหารจัดการฮัจญ์ของซาอุดิอาระเบีย: สำรวจปัญหาการดำเนินกิจการฮัจญ์ของไทย และรูปแบบการจัดการของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

บทคัดย่อ

    บทความวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกิจการฮัจญ์ของซาอุดิอาระเบีย และการบริหารกิจการฮัจญ์ของไทยภายใต้การกำกับดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการฮัจญ์ของไทย และสำรวจตัวแบบการจัดการกิจการฮัจญ์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ คณะวิจัยได้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์เอกสาร และการประชุมระดมสมอง โดยกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญด้วยวิธีเลือกแบบเจาะจงจำนวน 40 คน จากพื้นที่ 3 ภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ เครื่องมือที่ใช้ในการการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์แบบไร้โครงสร้าง ผ่านการพิจารณาตามกระบวนการทางจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนา บันทึกเสียง และการจดบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการบรรยายเชิงพรรณนา และดัดแปลงขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพของโคไลซ์ซี (1978) ผลการวิจัยพบว่า ซาอุดิอาระเบียได้นำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมระบบการบริหารจัดการฮัจญ์ (E-TRACK) ส่งผลให้การบริหารจัดการ มีประสิทธิภาพมากกว่าอดีต ส่วนปัญหาการดำเนินการกิจการฮัจญ์ของไทยมีหลายประการ ทั้งปัญหาการบริหารจัดการฮัจญ์ภายใต้หน่วยงานรัฐ ระบบโควตา การเดินทางโดยสายการบิน การบริการที่พัก อาหารและการเดินทางภายในซาอุดิอาระเบีย ขณะที่การศึกษาตัวแบบจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ล้วนมีโครงสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการฮัจญ์อย่างเป็นระบบและมีความชัดเจน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการฮัจญ์ของไทยได้

 

สามารถเข้าถึงบทความได้ที่ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NRRU/article/view/253864